วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ประชาคมอาเซียนกับการจ้างงานตอนที่ 1-2 AEC
http://doe.go.th/vgnew/Content/frmNews.aspx?DetailID=34&fColID=2
*
ประชาคมอาเซียนกับการจ้างงาน ตอนที่ 1
ดร. แสงชัย ชัยจงเจริญสุข
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าประชาคมอาเซียน (Association of South East Asian Nations) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2558 การปรากฏขึ้นของประชาคมอาเซียนทำให้คนไทยทั้งประเทศกลายเป็นคนในประชาคมอาเซียนนับว่ามีความท้าทายมากสำหรับเรื่องการจ้างงานในตลาดแรงงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเกือบ 10 เท่าหลายคนให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ด้านแรงงานที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต การเตรียมตัวเพื่อรองรับและรู้เท่าทันปรากฏการณ์ดังกล่าวจะสามารถช่วยให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน ตัวแรงงานและสถานประกอบการ สามารถตั้งรับและรุกกับสถานการณ์นั้นได้ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศไทย มีประชากรประมาณ 590 ล้านคน มากพอๆกับ กลุ่ม The European Union (EU) แต่มีสมาชิกประเทศน้อยกว่ามาก สามารถสร้างการผลิตได้จำนวนมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง (economy of scale) ในอุตสาหกรรมการผลิตได้มากเช่นเดียวกับ EU มีพื้นที่ประมาณ 4,435,570 กิโลเมตร มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ ถือว่าพอฟัดพอเหวี่ยงกันระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจสองกลุ่มนี้
กำเนิดประชาคมอาเซียน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504 โดยมีประเทศผู้ร่วมก่อกำเนิด 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ต่อมาถูกล้มเลิกไปเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย จนกระทั่งปีพ.ศ. 2510 จึงได้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่มีประเทศที่ให้กำเนิด 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเชีย มาเลเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย โดยได้ร่วมลงนามกันใน ปฎิญญากรุงเทพ มีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรม และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ต่อมามีประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ประเทศในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2553 กลุ่มประเทศ ASEAN ได้กลายมาเป็นเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ที่สมบูรณ์โดยมีอัตราภาษี 0 เปอร์เซ็นต์ มีแหล่งการค้าที่สำคัญๆ 4 แห่งได้แก่ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแหล่งการค้าทั้งสี่แห่ง ตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับว่าเป็นแหล่งการค้าและตลาดแรงงานที่สำคัญของประเทศไทย การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากที่ได้รับจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรีซึ่งทำให้มีตลาดการค้าที่เพิ่มขึ้น โดยพิจารณาจากขนาดตลาดซึ่งแสดงจากจำนวนประชากร รายได้ มูลค่าเพิ่มของสินค้า การจ้างงาน และรายได้ต่อหัว ซึ่งการปรับลดการกีดกันทางการค้าส่งผลทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นอย่างมาก และกำลังก้าวสู่ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยสามด้าน คือ ประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 โปรดติดตามต่อไป
*
http://doe.go.th/vgnew/Content/frmNews.aspx?DetailID=35&fColID=2
*
ประชาคมอาเซียนกับการจ้างงาน ตอนที่ ๒
ดร. แสงชัย ชัยจงเจริญสุข
การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสมาชิก ๑๐ ประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ความร่วมมือนี้ประกอบไปด้วยเสาหลักสามเสาด้วยกัน ได้แก่ ประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในเสาหลักทั้งสามนี้เสาหลักที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรมการจัดหางานมากที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีความเกี่ยวข้องกับกำลังแรงงานของประเทศไทยโดยตรง มีผลกระทบต่อการจ้างงานเป็นวงกว้างในภาคอุตสาหกรรมการผลิตกับภาคบริการซึ่งเป็นหัวใจของกำลังแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย และมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประชาคมอาเซียน ก่อนการเรียนรู้เรื่องผลกระทบที่มีต่อการจ้างงานคงต้องมาทำความรู้จักกับแหล่งข้อมูลที่สำคัญต่อการจ้างงานก่อนซึ่งเรียกว่า การจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ปี ๒๕๕๒ (Thailand Standard Industrial Classification: TSIC ๒๐๐๙ REV. ๓) ซึ่งการประกอบธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจัดอยู่ในหมวด C, มีทั้งหมดประมาณ ๒๐๐ อุตสาหกรรม กรมการจัดหางานได้จัดโครงสร้างของการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม(ประเทศไทย) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ นับแต่มีการจัดทำประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) โดยเสร็จสิ้นลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบันประกอบกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีความทันสมัยซับซ้อนมากยิ่งขึ้นพร้อมกับการจัดองค์กรของแต่ละอุตสาหกรรมได้สร้างกิจกรรมและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างที่ปรากฏขึ้นมาได้แก่ ๑. กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ ๒. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนอื่นๆ ๓. ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ ๔. กิจกรรมในครัวเรือน กิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการที่ทำขึ้นเองเพื่อใช้ในครัวเรือน เป็นต้น อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมในหลายประเทศทั่วโลกก่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อการจ้างงานในประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ตามการแจกแจงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการจ้างงานในแต่ละอุตสาหกรรมคงมีรายละเอียดมากมายยากแก่การจดจำและนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานโดยเฉพาะการแนะแนวอาชีพซึ่งเป็นภาระกิจที่สำคัญของกรมการจัดหางานในการแนะแนวอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ในที่นี้จึงขอนำเอาทฤษฎีของแอริ เฮคเซอร์ "Eli Heckscher" และ เบทิล โอลิน "Bertil Ohlin" สองนักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดนผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. ๑๙๗๗ มาอธิบายเรื่องการค้าระหว่างประเทศ หรือทฤษฎี "การได้เปรียบจากปัจจัยการผลิต" หรือ "ทฤษฎีเฮกเชอร์ โอลิน" Heckscher-Ohlin Theory ในที่นี้มุ่งไปที่แรงงานที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต โดยได้มีการแบ่งโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตประมาณ ๒๐๐ อุตสาหกรรมการผลิตแบ่งออกเป็น ๕ กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกันเพื่อให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทย มีดังนี้ ๑. อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ ๒. อุตสาหกรรมการปิโตรเลียม ๓. อุตสาหกรรมการส่งออก ๔. อุตสาหกรรมการนำเข้า และ๕. อุสาหกรรมการผลิตในประเทศ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมการผลิตที่มีผลต่อการจ้างงานและค่าจ้าง โดยพิจารณาจากมูลค่าการส่งออก ศักยภาพในการแข่งขันในอนาคต ในประเด็นของมูลค่าการผลิต มูลค่าเพิ่ม การจ้างงาน การลงทุน การส่งออก และการนำเข้า โปรดติดตามตอนต่อไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น