ถอดรหัสกระบวนสร้างแบรนด์ “วิกรม กรมดิษฐ์”
สุกรี แมนชัยนิมิต เอกวสา สุขส่ง Positioning Magazine สิงหาคม 2553 0 Comments
Added on: 17/8/2553
“วิกรม กรมดิษฐ์” กลายเป็นซีอีโอที่ดังจนฉุดไม่อยู่ เป็นแรงบันดาลใจและต้นแบบของคนจำนวนมากในการต่อสู้และไม่ยอมแพ้ เนื้อหาว่าด้วยเรื่องของ ”ผมจะเป็นคนดี” “นักธุรกิจที่เกือบจะฆ่าพ่อของตัวเอง” ถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกชื่อของ ”วิกรม” ไม่เคยห่างหายไปจากสื่อ เขากลายเป็นบุคคลที่อยู่ในสปอตไลต์ทั้งบนชั้นพ็อกเกตบุ๊กเกือบ 10 เล่ม ยอดพิมพ์นับล้าน และจะตามมาอีกไม่รู้จบ แรงบนคลื่นวิทยุเกือบทุกวัน ผ่านตัวอักษรกับการเป็นคอลัมนิสต์บนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ โชว์ตัวรายการวาไรตี้ ทอล์กโชว์เป็นระยะ และเป็นซีอีโอคนแรกในไทยที่ชีวิตถูกถ่ายทอดเป็นละคร ในเรื่อง ”ไฟอมตะ” ที่ออนแอร์โมเดิร์นไนน์ในช่วงไพรม์ไทม์ จนเป็นแรงส่งให้ Mass รู้จักเขามากขึ้น เรตติ้งนี้ทำให้เขาไม่ลังเลที่จะส่งออกเรื่องราวของเขาสู่ต่างประเทศ รวมไปถึงโปรเจกต์ใหม่อย่างการท่องเที่ยวนาน 6 เดือน เพื่อเล่าเรื่องผ่านช่องสารคดีอย่างดิสคัฟเวอรี่ หรือเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
นี่คือ Best Practice ของการสร้างแบรนด์บุคคล ( Personal Branding) ที่ต้องอาศัยการกำหนด Image Maker อย่างดี ซึ่งแม้ ”วิกรม” ยืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้อยากดัง และไม่ได้วางแผนมาก่อน แต่เขาก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการจะเป็นคนดัง มีชื่อเสียงนั้น ต้องทำอย่างไรบ้าง และสุดท้ายเขาก็ไม่อาจปฏิเสธ ”ความดัง” เพราะคือจุดพลิกให้เรื่องราวที่เขาคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมขยายวงได้มากยิ่งขึ้น
Positioning ชัด
“ผมจะเป็นคนดี-พอเพียง-คืนสังคม”
ตั้งแต่การออกพ็อกเกตบุ๊กเล่มแรก ”ผมจะเป็นคนดี” จนถึงจัดรายการวิทยุ ออกรายการทีวีต่างๆ และล่าสุดกับละครไฟอมตะ “วิกรม” ได้แสดง Positioning ของตัวเองอย่างชัดเจนผ่านคำพูดและการกระทำ ที่เป็นไปตามกระแสโลกในยุคปัจจุบัน ที่สังคมจะยอมรับคนมีชื่อเสียงสักคนหนึ่งนั้น จะวัดจาก 1.Attitude towards life หรือทัศนคติในการใช้ชีวิต ที่มองโลกในแง่บวก และมีความหวัง และ2.Philanthropic แนวคิดในการตอบแทน หรือคืนประโยชน์ต่อสังคม การรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
“วิกรม” แสดงจุดยืนในการใช้ชีวิตด้วยการมองโลกในแง่บวก มีความหวัง ต่อสู้ อดทน จนได้มาซึ่งความสำเร็จ แม้จะทะเลาะกับพ่อ จนถึงจะฆ่าพ่อ ล้มเหลวในธุรกิจช่วงเริ่มต้น ล้มเหลวในชีวิตแต่งงาน หรือแม้กระทั่งทำผิดในการให้ผู้หญิงที่เข้ามาในชีวิตทำแท้งถึงสิบกว่าคน ที่ยากที่สังคมจะยอมรับได้ แต่ ”วิกรม” ได้เล่าถึงการต่อสู้อุปสรรคทั้งหมดจนสามารถสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ภายใต้ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมอาณาจักร ”อมตะนคร” ที่ไม่เพียงทำให้ครอบครัวพี่น้อง ที่เขาบอกว่ามีอีกกว่า 50 ชีวิตที่เขาต้องดูแล มีความสุขสบายเท่านั้น แต่สิ่งที่เขามักบอกเล่าเสมอคือการสร้างงานให้คนในนิคมอุตสาหกรรมนับแสนคน เป็นแหล่งผลิตจีดีพีให้ประเทศถึง 7% ของจีดีพีทั้งหมดที่มูลค่ารวมประมาณ 7 ล้านล้านบาท
จุดยืนที่มีแนวคิดการตอบแทนสังคม และรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ ”วิกรม” กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง จากเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เขาคิดว่าควรจะเผยแพร่เรื่องราวด้านมืดของตัวเองเกี่ยวกับครอบครัว เพื่อแบ่งปันสังคม อย่างที่เขาให้สัมภาษณ์กับทีม ”POSITIONING” ว่า “อดีตของตัวเองน่าจะเป็นแผนที่ หรือเข็มทิศให้คนอื่นได้”
การบอกเล่าด้านมืดเพื่อเป็นประสบการณ์ให้คนอื่นเรียนรู้ในทางลัด ทำให้ “วิกรม” กลายเป็นซีอีโอที่ได้รับความสนใจ แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาเคยนำเงินส่วนตัวในการตั้งมูลนิธิอมตะ แต่ก็ไม่ดังเท่าปัจจุบัน เพราะซีอีโอช่วยสังคมในด้านต่างๆ นั้นมีอยู่อย่างดาษดื่น หรือซีอีโอที่วางมือจากการบริหารงานประจำอย่างที่เขาวางมือที่บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น ในวัย 48 ปี ก็ยังไม่แรงพอ เพราะเขายังรั้งตำแหน่งซีอีโอ และปล่อยให้น้องชายคือ ”วิบูลย์ กรมดิษฐ์” บริหารและเป็นผู้ออกมาบอกเล่าเรื่องธุรกิจของอมตะ โดย ”วิกรม” จะไม่แสดงบทบาทชัดเหมือนอย่างเศรษฐีโลกหลายคนทำ เช่น บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ ที่ตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือสังคม และตั้งผู้บริหารที่ร่วมก่อตั้งกันมาคือ ”สตีฟ บาลเมอร์” มาดูแลไมโครซอฟท์แทน เพื่อแยกภาพระหว่างนักธุรกิจและเศรษฐีใจบุญให้ออกจากกัน
วิธีการเล่าเรื่องราวของ ”วิกรม” เกี่ยวกับเกือบจะฆ่าพ่อนั้น เป็นชีวิตที่ดราม่า ไม่มีซีอีโอคนไหนเคยเล่ามาก่อน นี่คือ Emotional ที่เรื่องราวของเขาสะดุดอารมณ์ของผู้ได้ยิน จนหันมาฟังเรื่องราวและจุดยืนของเขาในชีวิตด้านอื่นๆ ตามมา
แนวทางการทำเพื่อสังคมของ ”วิกรม” นั้น ชัดและแตกต่าง เขาไม่ได้ใช้เงินมหาศาลเหมือนอย่างคนอื่นๆ เขาเลือกใช้เรื่องราวของตัวเองผ่านพ็อกเกตบุ๊ก ”ผมจะเป็นคนดี” ต่อยอดไปถึงรายการวิทยุ ที่เสียงที่พูดไปแล้วนำมารวมเป็นหนังสือเล่มขายได้อีก กิจกรรมของมูลนิธิจึงเริ่มเทน้ำหนักในการทำโปรดักต์เหล่านี้ให้เข้าถึงมวลชน เพื่อนำส่งผ่านเจตนารมณ์ของ ”วิกรม” ที่ต้องการเผยแพร่ข้อคิด และความรู้ถึงผู้คนให้มากที่สุด มากกว่าการบริจาคเงิน ตามที่ ”วิกรม” ยืนยันคือ “มีคนมาขอเยอะ แต่ก็ไม่ได้ให้ ก็มันเงินของเรา” ซึ่งการคืนสู่สังคมในรูปตัวเงินนั้นทุกวันนี้มี 2 โครงการหลักๆ คือ รางวัลนักเขียนอมตะ ที่จัดมาแล้ว 3 ปี และโครงการประกวดศิลปกรรมอมตะ อาร์ต อวอร์ด จัดมาแล้ว 4 ปี โดยที่เลือกบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลจากคณะกรรมการมูลนิธิที่ปัจจุบัน มี ”อานันท์ ปันยารชุน” เป็นประธาน
Consistency
แสดงจุดยืนอย่างคงเส้นคงวา
นักสร้างแบรนด์หลายคนอดที่จะชื่นชมวิธีของ ”วิกรม” ไม่ได้ เพราะไม่เพียงเขาแสดงจุดยืนชัดเจนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำเสนอได้อย่างคงเส้นคงวา ชนิดที่ว่าไม่หลุดจากเส้นทางที่วางไว้ ซึ่งสำคัญมากสำหรับการกำหนดภาพลักษณ์ของแบรนด์ ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ที่ไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความจดจำ
หากพิจารณาตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก ที่เป็นเอกลักษณ์ ที่เห็นและจดจำทันที กรณีของ ”วิกรม” จากสูทผูกไท กลายเป็นเสื้อผ้าฝ้าย กางเกงเล หรือผ้าเนื้อเบา คือภาพที่คนจดจำ เพราะไม่ว่าจะไปออกรายการทีวี ออกงานเปิดตัวหนังสือ งานกึ่งทางการ ไปสัมภาษณ์ที่บ้าน “วิกรม” จะอยู่ในชุดที่ไม่หลุดหรือแตกต่างจากเดิม เหมือนอย่างในวันสบายๆ ที่เขาใหญ่ ที่เขาโชว์ให้ทีม POSITIONING ดูว่าชุดเขานี้กางเกงก็ประมาณ 130 บาท แถบชายกางเกงก็เริ่มลุ่ย ส่วนเสื้อก็ไม่เกิน 200-300 บาท เท่านั้นเอง และชุดนี้ก็เพิ่งต้อนรับแขกชาวต่างชาติที่เพิ่งมาเยือนเช่นกัน หรืออีกชุดหนึ่งที่ใส่ออกรายการไนน์ เอนเตอร์เทน เพื่อโปรโมตละครไฟอมตะ ก็มีเสื้อกั๊กที่เขาใส่มาแล้วประมาณ 10 ปี
ความคงเส้นคงวา ผ่านเรื่องราว ที่เน้นย้ำในทุกสื่อว่า ”ผมจะเป็นคนดี” และความ ”พอเพียง” ผ่านกระบวนการสื่อสารครบวงจรชนิดเทียบเท่ากับ IMC ของสินค้า ตั้งแต่การออกพ็อกเกตบุ๊กเมื่อปี 2547 การจัดรายการวิทยุอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544 เป็นคอมเมนเตเตอร์ในรายการทีวี คอลัมน์นิสต์ในหนังสือพิมพ์ ออกอีเวนต์สัมมนา แจกลายเซ็น การให้สัมภาษณ์รายการวาไรตี้ต่างๆ จนถึงละครทีวี ”ไฟอมตะ” ที่ทำให้ตัวอักษรใน ”ผมจะเป็นคนดี” มีชีวิต และทำให้แบรนด์ของเขายิ่งแข็งแรง ในกลุ่ม Mass
ในปี 2553 เขาจะย้ำถึงการทำในสิ่งที่ชอบ และพอใจด้วยการเดินทางด้วยคาราวานรถบ้าน 5 คัน ที่เขาสั่งบริษัทญี่ปุ่น Home Motor สร้างขึ้น ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ด้วยแผนทำสารคดีท่องเที่ยว มีทีมงาน 10 คน ตั้งแต่แม่บ้านทำอาหารจนถึงช่างกล้องมืออาชีพ โดยไปประเทศแรกคือมองโกเลีย นาน 6 เดือน และในปีต่อๆ ไปอาจะเป็นทิเบต และจีน
แนวคิดของเขาคือการทำสารคดีแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ที่กิน เสริมด้วยข้อมูลความรู้ความเป็นมาของที่แห่งนั้น และนำเสนอต่อช่องสารคดีต่างประเทศ อาจเป็นเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก หรือดิสคัฟเวอรี่ ชาแนล เพราะจุดยืนเขาคือตลาดโลกใหญ่กว่าตลาดไทย แล้วทำไมถึงไม่ฝันให้ไกลเพื่อส่งออกสินค้าไทยบ้าง
ในอนาคตยังมีพ็อกเกตบุ๊ก “My Lady” ที่เป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่เข้ามาในชีวิตของ ”วิกรม” ที่เดิมจะออกจำหน่ายในปีนี้ แต่เพราะละครไฟอมตะที่ออนแอร์ในปีนี้ เน้นนำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ชีวิต จึงพัก My Lady ไว้ก่อน ซึ่ง ”วิกรม” บอกว่าเพราะเกรง ”จะทำให้หนังเขาสะเทือน”
My Lady เป็นเนื้อหาที่ ”วิกรม” ตอกย้ำความคิดในการแบ่งปันบทเรียนในอดีตต่อสังคมอีกครั้งในเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงหลายคนในชีวิตที่ต้องไปทำแท้ง ที่เขาบอกว่า อดีตความเป็นเพลย์บอยของเขาน่าเป็นแนวทางให้กับวัยรุ่นในปัจจุบันที่มีจำนวนถึงเกือบ 2 หมื่นคนที่ตั้งท้องตั้งแต่อายุ 15 ปี ทั้งที่ยังไม่พร้อมจะดูแลเลี้ยงดูเด็กที่จะเกิดมา
“วิกรม” มั่นใจว่า My Lady จะขายดีเป็นล้านเล่ม เพราะความเป็นตรงของเขาที่สังคมรับรู้เมื่อมาเล่าถึงเรื่องในมุ้งของวิกรม คนก็ต้องสนใจ โดยวิธีนำเสนอแม้จะไม่ได้มีรูป หรือชื่อจริงของใคร แต่จะมีจดหมายที่ผู้หญิงหลายคนได้เขียนถึงความหลังการพบรักกับ ”วิกรม”
เรียกได้ว่ากระบวนการตอกย้ำจุดยืนของเขา มีการดำเนินการผ่านทั้งสื่อ Above the line และ Below the line อย่างสมบูรณ์แบบ
Authentic ตัวจริง ก็อยู่นาน
เมื่อแบรนด์เกิดได้แล้ว ระยะเวลาคือการพิสูจน์ว่าเขาเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ หลายครั้งในการตอกย้ำตัวตน จนบางครั้งอารมณ์ขึ้นเมื่อถูกถามซ้ำ ทดสอบอารมณ์เขาอยู่ตลอดเวลา แต่คำตอบก็ไม่หลุดไปจากเดิม เขามีทัศนคติการใช้ชีวิตโดยมี ”ความชอบ” เป็นหลัก คืออีกหนึ่งจุดยืนที่ ”วิกรม” แสดงให้เห็นว่าไม่ละทิ้งตัวตน แม้สิ่งนั้นจะทำให้เกิดการตั้งคำถามและข้อถกเถียงเรื่องความพอเพียงก็ตาม โดยเฉพาะการใช้รถหรูอย่างรถสปอร์ตหลายคัน ที่รวมมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท เพราะเขามักให้สัมภาษณ์เสมอว่าคือ “ความชอบ และมีเงินที่จะซื้อได้” เป็นความชอบที่มีมานาน และไม่ต้องละเลิก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ แม้ว่าในอีกมุมหนึ่ง ”วิกรม” ได้แสดงให้เห็นถึงการแต่งกายอย่างพอเพียง และอยากหาเวลาปลีกวิเวกอยู่บ้านและถ้ำ แต่ก็สร้างขึ้นบนพื้นที่ 30 ไร่บริเวณใกล้เขาใหญ่ก็ตาม
“วิกรม” ไม่ละทิ้งตัวตนที่แท้จริง ทั้งในเรื่องของการมองโลกในแง่บวกมีความหวัง ผ่านงานต่างๆ ที่สื่อออกไป แม้จะมีหลายอย่างที่คนมองว่า ”เว่อร์” แต่ ”วิกรม” คือ ”วิกรม” อย่างที่เขาบอกดังนี้
“ความจริง อย่าไปตอแหล อย่าไปหลอกลวง ทำอะไรที่เป็นตัวตนของเรา อย่าไปกังวล เราก็ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เราต้องอย่ามีอะไรแอบแฝงในการทำอะไร ผมว่าถ้าเราทำอะไรทุกอย่าง ทั้งหมดทำด้วยใจ ทำด้วยความเป็นจริง ความเป็นตัวตน ก็จะทำให้เกิดความเป็นจริง
เราทำเพราะคิดว่าเป็นประโยชน์ อันแรกคือเป็นประโยชน์กับตัวเราก่อน อย่าไปบอกว่าทำเพื่อชาติ อย่าไปหลอกลวง ประโยชน์คือความสุขความพึงพอใจ ถ้าทุกคนมีพื้นฐานอย่างนั้นก็เป็นความสุข ถ้าเราไม่มีอะไรแอบแฝง เราพึงพอใจ แล้วทำขยายวง คนอื่นได้ประโยชน์ได้ดีด้วย ก็ทำให้การกระทำของเรามีได้กับได้ และมันไม่ฝืน การที่ทำแล้วไม่ฝืน ก็จะกลายเป็นความจริง และมนุษย์ต้องอยู่ได้ด้วยความจริง ถ้ามัวไปหลอกลวงสังคม โกหกตัวเอง ทำอะไรก็มีอะไรแอบแฝง ไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร”
ในอีกมุมหนึ่งที่ยังคงต้องรอเวลาพิสูจน์คือคำถามที่ว่าจะเล่นการเมืองหรือไม่ ซึ่งเป็น ”จุดเสี่ยง” ที่จะทำให้แบรนด์ของ ”วิกรม” เสียหรือไม่ เพราะตลอดเวลาคำตอบของ ”วิกรม” คือไม่สนใจ และไม่มีวันเล่นการเมือง เหตุผลที่ชัดเจนของเขาคือไม่ชอบ และไม่อยาก เพราะฉะนั้นหากเขาคือตัวจริง จะไม่มีใครเห็นเขาในเส้นทางการเมืองนี้ในอนาคต
Related from Positioning Magazine
CEO Branding ละครชีวีต “วิกรม...
13 days agoวิกรม กรมดิษฐ์ ใส่ชีวิต...
82 days agoA Team Behind the Scene
10 days ago
Read more: http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=88627#ixzz0yB2IdwPr
Under Creative Commons License: Attribution Non-Commercial No Derivatives
ขอบคุณ Positioning Magazine มาก ๆ ค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น